หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
วาดอะไรก็ได้ ใครๆก็ชอบ

อะกีรา คูโรซาวะ ศิลปินผู้สร้าง “ราโชมอน”

อากีรา คูโรซาวะ (พ.ศ.2453- ) มีความสนใจการวาดรูปมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ตอนเรียนอยู่ประถมบังเอิญได้เรียนกับครูวาดเขียนที่ถูกใจ ทำให้เขารักการวาดเขียนยิ่งขึ้น ครูสอนวาดเขียนหลายคนที่เขาเคยเรียนด้วย มักจะเข้ามาในห้องเรียนพร้อมกับ แจกันหรือปิ่นโต วางของสิ่งนั้นลงบนโต๊ะ แล้วสั่งให้นักเรียนวาดให้เหมือนของจริง ใครวาดได้เหมือนที่สุดก็จะได้คะแนนเต็ม

มีครูสอนวาดเขียนคนหนึ่ง ไม่ใช้วิธีบังคับให้นักเรียนวาดรูปให้เหมือนจากหุ่น แต่บอกว่า “ใครอยากจะวาดอะไรก็ได้.....เลือกเอาที่ชอบที่สุดก็แล้วกัน” ซึ่งถูกใจ คูโรซาวะในวัยเด็กมาก เขาวาดอย่างสุดฝีมือ โดยใช้นิ้วมือทั้งห้านิ้ว จุ่มน้ำลายและสีแล้วละเลงเป็นภาพขึ้นมา และมีการให้ความเห็นว่า เป็นลายที่งดงามอย่างประหลาด

ภาพวาดงานศิลป์ของคูโรซาวะ และนักเรียนคนอื่นๆ เมื่อเสร็จแล้วครูก็เอามาโชว์ หน้าชั้นเรียนเพื่อการวิจารณ์ ข้อดีข้อเสีย ตามแบบอย่างของการเรียนการสอนศิลปะ เมื่อถึงคิวรูปของคูโรซาวะ ที่ใช้นิ้ว จุ้มสีละเลงนั้น นักเรียนทั้งห้องหัวเราะครืน แต่กลับได้รับการยกย่องจากครูศิลปะว่าเป็นภาพที่ดีที่สุด สไตล์ยอดเยี่ยมและมีความแหวกแนว และให้คะแนนเต็ม ทำให้เขาเกิดกำลังใจและมีความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้น และไม่เคยขาดเรียนชั่วโมงวาดเขียนของครูคนนี้เลย

คูโรซาวะ วาดรูปมาเรื่อยจนเข้าสู่วัยหนุ่ม โดยตั้งใจจะเขียนรูปเป็นอาชีพ และเป็นช่วงที่เขามีความคิดรุนแรง มีความไม่พอใจกับ สภาพสังคมที่ถูกมองว่าเน่าเฟะสำหรับเขา จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ สันนิบาตจิตรกรกรรมชีพซึ่งล้วนเป็นพวกนิยมซ้าย และได้ร่วมแสดงรูปเขียนในงานแสดงศิลปกรรมของกลุ่มจิตรกรฝ่ายซ้าย แต่ในไม่ช้าเขาก็มองเห็นว่าจิตรกรพวกนี้เหยาะแหยะไม่ซ้ายจริง เผลอเป็นหลบเข้าบาร์และ เต้นรำกัน ครึกครื้น ประกาศตัวเป็น “ซ้าย” โก้ๆไปงั้นเอง เขาจึงออกจากกลุ่มไป

หลายปีต่อมาด้วยความยากลำบากและความเป็นซ้ายของเขาก็ค่อยๆอ่อนกำลังลง มีประกาศรับสมัครผู้ช่วยผู้กำกับทางหนังสือพิมพ์ เขายื่นใบสมัครโดยเขียนประวัติว่าเคยเป็นช่างเขียนสนใจวรรณคดีและการละคร เขาผ่านการทดสอบจนถึงรอบสัมภาษณ์ซึ่งก็ไปทะเลาะกับกรรมการ แต่เขาก็ได้ตำแหน่งนั้น เพราะกรรมการเห็นว่าเขามีความจองหองของศิลปิน คนที่หัวอ่อนจะเป็นผู้กำกับไม่ได้ ผู้กำกับที่ดีต้องเห็นตัวเองว่าวิเศษ เป็นเทวดา คนอื่นบ้องตื้นทั้งนั้น

ผู้กำกับที่ดีต้องไม่กลัวจะมีปัญหากับโปรดิวเซอร์ ดังนั้นการกล้าเถียงและทะเลาะกับกรรมการจึงเข้าสเป็ก เขาจึงได้เรียนงานสร้างภาพยนตร์กับผู้กำกับใหญ่ตั้งแต่การเขียนสคริปต์ จนถึงการสร้างอารมณ์ให้แก่คนดูโดยใช้แสงและดนตรีเข้าช่วย

จอมโจรป่า ทาโจมารุ ควบม้าอย่างคึกคะนองใน “ราโซมอน”

ความที่เขาเป็นช่างเขียนมาก่อน เมื่อจะสร้างหนังแต่ละเรื่องเขาจะบรรจงเขียนภาพตามจินตนาการของเขาลงไว้หมด และมิใช่เขียนลวกๆแบบสเก็ตซ์ แต่เขียนลงสีกันเลยที่เดียว

ภาพยนตร์เรื่อง “ราโซมอน” ที่เขาสร้างมีความคิดริเริ่มด้วยการถ่ายภาพย้อนแสง เนื้อเรื่องได้พาคนดูผ่านแสงและเงาของป่าเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ซึ่งหัวใจมนุษย์กำลังหลงทาง โดยเป็นภาพยนตร์ ขาว-ดำ ที่มีมุมกล้องยอดเยี่ยม

คูโรซาวะ ได้พูดถึงหัวใจของเรื่อง “ราโชมอน” ให้ผู้ช่วยผู้กำกับสามคนของเขาฟังว่า “มนุษย์เราเมื่อพูดถึงตนเองย่อมมีอัตตาที่จะต้องคุ้มครองเชิดชู จึงพูดถึงพฤติการณ์ ของตัวเองด้วยความซื่อตรงไม่เป็น ต้องเติมควารู้สึกเข้าข้างตัวเอง ให้ตัวเองวิเศษกว่าความเป็นจริงอยู่เสมอเป็นเรื่องอัตตาของมนุษย์...เราต้องการให้คนดูได้รับทราบธรรมชาติวิสัยอันนี้ของมนุษย์ เพราะหัวใจมนุษย์มันยากที่จะเข้าใจ ศิลปินจึงต้องตีแผ่ออกมา...”

 
เสวก จิรสุทธิสาร

___________________

เรียบเรียงจาก อะกีรา คูโรซาวะ ผู้สร้างราโซมอนให้ลือชื่อ “คือ...คนที่คิดถึง” โดย วิลาศ มณีวัต, สำนักพิมพ์ มติชน2546

ภาพประกอบ

  1. ภาพการ์ตูน วาดโดย แอ๊ด มติชน จากชุด “วัฒนธรรม?” ศิลปวัฒนธรรม กันยายน2537 น.16
  2. จากภาพยนตร์ เรื่อง “ราโชมอน”

บทความศิลปะ โดย เสวก จิรสุทธิสาร
  1. บุญชัย เรียนศิลปะ
  2. วินสตัน เชอร์ชิล:ชีวิตในฐานะจิตรกร
  3. พระอัจฉริยภาพทางศิลปะของมกุฎราชกุมารอังกฤษ
  4. อาจารย์เฟื้อเรียนศิลปะ
  5. เฟื้อ หริพิทักษ์ จิตรกรอิมเพรสชั่นนิสม์คนแรกของเมืองไทย ?
  6. ไม่มี“สีดำ”ในงานอิมเพรสชั่นนิสม์ไทย ?
  7. วาดอะไรก็ได้ ใครๆ ก็ชอบ
  8. เทคนิคจิตรกรรม
  9. ก่อนคุณจะเริ่มต้นวาดรูปสีน้ำ
  10. มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549  เชียงใหม่ สวนสเปน
  11. อคาเดมิก อาร์ต และปิกาสโซ
  12. สีน้ำสำหรับการวาดภาพ
  13. มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549  เชียงใหม่ สวนเบลเยี่ยม
  14. สัดส่วนความงามของคนในงานศิลปะ

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :