หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
สัดส่วนความงามของคนในงานศิลปะ

 

สัดส่วนความงามของคนในงานศิลปะ

         

          การศึกษาศิลปะทางทัศนศิลป์สิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับรูปทรงของคน  ทั้งที่เป็นเพศชายและเพศหญิง โดยมีการคำนึงถึงช่วงวัยระยะต่างๆกันด้วย เพื่อให้เกิดการสังเกตและเปรียบเทียบความแตกต่างกันของรูปร่างและสัดส่วนของแต่ละช่วงอายุ เพื่อความถูกต้องและสมจริงในการทำงานทางการวาดและการปั้นภาพคน และทุกวันนี้การเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับสัดส่วนและลักษะความงามของคนยังคงถูกบันจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันทางศิลปะตามแบบอย่างคตินิยมของประเทศทางยุโรป


            ภาพสเกตช์ “Proportion of the Human Figure” หรือ “ Vitruvian Man” ของเลโอนาร์โด ดา วินชี (1452 – 1519) เป็นเรื่องของทฤษฎีสัดส่วนที่ศิลปินค้นหากันมาตั้งแต่สมัยกรีก กล่าวคือ ศิลปินโบราณคิดว่าจะเขียนรูปมนุษย์ให้สวยงามได้อย่างไร น่าจะมีทฤษฎีสัดส่วนว่าควรจะเท่าไหร่ เหมือนสมัยกรีกเฮอลิเคตุสคิดเรื่องทฤษฎีสัดส่วนของรูปปั้นว่า จะให้รูปปั้นออกมางดงามสมส่วนได้ยังไง กำหนดไว้ว่าส่วนของศีรษะต้องสูงเท่าไหร่ ขา แขน เท่าไหร่ เรอเนสซองค์เป็นยุคของการฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่งของศิลปะคลาสสิก เพราะฉะนั้นพวกเรอเนสซองค์ (เลโอนาร์โด เป็นจิตรกรคนสำคัญของเรอเนสซองค์ยุคทอง) พยายามแสวงหาสัดส่วนที่งดงามด้วย (กฤษณา หงส์อุเทน, 2549, เมื่อนักประวัติ ศาสตร์ศิลป์ถอดรหัสลับ ดาวินชี, หน้า 2)

                     

                     ภาพ  Vitruvian Man ของ เลโอนาร์โด  ดา วินชี

           

            เลโอนาร์โดสนใจกายวิภาคอย่างจริงจังมาก  เขาให้ความสำคัญกับการศึกษาสรีระและอวัยวะต่างๆ เพื่อนำมาใช้กับงานศิลป์ของตนเอง  อันที่จริงเลโอนาร์โดเริ่มศึกษาเรื่องกายวิภาค ตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นนักเรียนฝึกหัดของเวร์รอคคีโอแล้ว โดยมีการบันทึกว่าช่วงเวลา 30ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1481-1511 นั้น เลโอนาร์โดได้ผ่าศพทั้งเพศชายและเพศหญิงในวัยต่างๆมากถึง 30 ศพ ปรากฏเป็นภาพวาดกายวิภาคของมนุษย์มากกว่า 200 ภาพ ซึ่งภาพเหล่านั้นมีตั้งแต่ภาพของอวัยวะภายใน ภาพกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โครงกระดูก รวมไปถึงภาพตัวอ่อนของทารกที่อยู่ในมดลูก! (บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์ และ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ, 2549, หน้า 26)

            เลโอนาร์โดไม่เพียงเฉพาะแค่ศึกษาโครงสร้างกายภาพของอวัยวะเพียงอย่างเดียว  เขายังสนใจหน้าที่และการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายด้วย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของหัวใจ) ...

เขาค้นพบอะไรบางอย่างที่อุดตันในเส้นเลือดจนเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตได้ และสิ่งนั้นเพิ่งมีชื่อเรียกในศตวรรษที่ 20 ว่า’คอเลสเตอรอล’ (เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย, 2550, หน้า14)

            เมื่อกล่าวถึงรูปทรงต่างๆแม้แต่รูปร่างของคนความเป็น 3 มิติที่เป็นจริงคือความกว้าง ความหนา และความสูงจะเป็นสิ่งที่มองเห็นชัดเจนที่สุด คือรูปร่างมีปริมาตรที่สามารถมองเห็นได้โดยรอบทุกๆแง่มุมอย่างงานประติมากรรมแบบลอยตัว และในรูปร่างนั้นก็มีการรับแสงสว่างและเกิดเงาขึ้นมีความสัมพันธกันทั่วทุกส่วนตามที่เป็นจริง และความงามที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนศิลปะและศิลปินต่างต้องสังเกตเพื่อนำไปใช้ในการวาดภาพบนกระดาษหรือบนผ้าใบที่แบนราบแบบ 2 มิติให้มีความสวยงามสมจริงเป็นแบบ 3 มิติโดยวิธีลวงตาอย่างงานจิตรกรรม  ซึ่งเราอาจจะระลึกถึงคำกล่าวของไมเคิล แองเจโล (1475 – 1564) ที่ว่า “Sculpture is the light for painting” (Alexandra Gromling, 1999, p.29) ความหมายคือ งานประติมากรรมเป็นแสงส่องสว่างให้แก่งานจิตรกรรม และเราควรจะได้รับรู้ถึงความเป็นมาที่น่าสนใจโดยสังเขปในเรื่องรูปร่างของคนทางงานประติมากรรมจากอดีต

            ...รูปหล่อสำริด “เทพเจ้า Poseidon“ ซึ่งสร้างขึ้นประมาณกลางศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ถูกพบจมอยู่ใต้ทะเลบริเวณแหลม Artemision โดยชาวประมงกรีก รูปแบบของประติมากรรมอยู่ในช่วงต่อระหว่างสมัยคลาสสิกตอนต้นและยุคทองของสมัยคลาสสิก ลักษณะทางสรีระอันงดงามแบบอุดมคติและกล้ามเนื้อที่เต็มไปด้วยพละกำลังของชายชาตรี ตลอดจนรูปทรงซึ่งสวยงามได้สัดส่วน  การจัดวางท่วงท่าที่สง่างาม และการเคลื่อนไหวอันอิสระของประติมากรรมรูป “เทพเจ้า Poseidon” สะท้อนให้เห็นผลพวงของพัฒนาการอันยาวนานและก้าวไกลในการสร้างรูปประติมากรรมตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับสัดส่วนและสรีระของมนุษย์อย่างเป็นระบบและอย่างละเอียดถี่ถ้วนของประติมา  กรกรีกสมัยนั้น...เช่นเดียวกับสถาปนิก ที่พยายามแสวงหากฏเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานมาใช้ในการสร้างรูปประติมากรรมให้มีความงดงามและสมบูรณ์แบบที่สุด  เพราะชาวกรีกเชื่อว่าส่วนรวมที่สมบูรณ์ย่อมเป็นผลมาจากการผสานกันขององค์ประกอบส่วนย่อยที่สมบูรณ์เท่านั้น...และถือว่ามนุษย์คือผลงานสร้างสรรค์อันสมบูรณ์แบบที่สุดของเทพเจ้า...ประติมากร Polycletus ผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงในสมัยของเขา เป็นผู้ตั้งทฤษฎีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของสัดส่วนเพื่อให้ศิลปินอื่นๆสามารถนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ได้ คือ ความสูงของรูปประติมากรรมควรเป็นเจ็ดเท่าของส่วนศีรษะ  ความยาวของเท้าจะต้องเป็นสามเท่าของฝ่ามือ  ความยาวของขาล่างจากเท้าถึงหัวเข่า  และความยาวของขาบนจากหัวเข่าถึงลำตัวควรจะเป็นหกเท่าของฝ่ามือ...(กฤษณา หงส์อุเทน, 2549,หน้า 41,42,43 และ44)



                           รูปหล่อสำริด เทพเจ้าโพไซดอน

           

            ...ถึงแม้ว่ารูปแบบของศิลปะกรีกจะแพร่หลายไปทั่วโลก  และการลอกเลียนรูปแบบภายนอกของศิลปะกรีกจะค่อนข้างประสบความสำเร็จก็ตาม  แต่จิตวิญญาณและความงดงามแห่งสัดส่วนอันเป็นอมตะที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับศิลปกรรมกรีก กลับกลายเป็นความลับซึ่งมิอาจลอกเลียนแบบได้ตลอดกาล (เรื่องเดียวกัน,หน้า 55)

            ในเรื่องรูปร่างคนแบบอุดมคติของกรีกและโรมันได้มีการจัดระบบเกี่ยวกับขนาดและสัดส่วนขึ้น และระบบที่ดีเยี่ยมที่สุดนั้น อยู่ในตำราประติมากรรมของ อัลแบร์ตี ชื่อ “De Statua” เขียนเมื่อราว พ.ศ. 2007 ว่าดังนี้  “เราได้เลือกร่างกายมนุษย์มาหลายขนาด โดยเลือกเอาเฉพาะที่เห็นด้วยความเชี่ยวชาญของเราเองว่า มีลักษณะงดงามมากที่สุด และนำมิติต่างๆของร่างกายเหล่านั้นมาเปรียบ เทียบกัน ขนาดใดที่เห็นว่าต่ำกว่า หรือสูงกว่าขนาดเฉลี่ยมากเกินไปก็คัดออกไป เราจะเลือกเอาเฉพาะขนาดที่เห็นด้วยประการทั้งปวงว่าเป็นขนาดโดยเฉลี่ยเท่านั้น” เรื่องขนาดสัดส่วนของรูปร่างคนนี้ได้ใช้ในทางวิชาการของการเรียนศิลปะต่อมาอีกร่วม 300 ปี และยังคงใช้อยู่ในโรงเรียนศิลปะแบบเก่าบางแห่งในปัจจุบัน (อัศนีย์ ชูอรุณ, 2535, สัดส่วนของรูปเปลือยแบบอุดมคติ, หน้า 6 - 7)

 

 


                                    รูปหล่อปูนปลาสเตอร์แสดงสัดส่วนของคน

           

            The Vitruvian Man ภาพมนุษย์วิทรูเวียน เป็นผลงานชิ้นที่มีชื่อเสียงมากของ ดา วินชี และถูกจัดให้เป็นอันดับ 1 ของ 10 สุดยอดผลงานทางความคิดของเขาที่จัดโดย www.livescience.com (เน้นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เน้นทางภาพวาดที่เป็นศิลปะ) เนื่องจากเป็นการวาดภาพที่ผนวกกับศาสตร์ทางวิชาการในเรื่องสัดส่วนทางคณิตศาสตร์ ที่เขาวาดตามคำบรรยายในหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของ มาร์คัส  วิทรูเวียส พอลลีโอ (Marcus Vitruvius Pollio) ซึ่งเป็นสถาปนิกและวิศวกรชาวโรมัน มีชีวิตอยู่ในราว 100 ปีก่อนคริสตกาล หนังสือที่ชื่อ De architectura ได้บรรยายสัดส่วนต่างๆของร่างกายมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบทางความงามไว้ดังนี้

-          1 ฝ่ามือ ยาวเท่ากับความกว้างของนิ้วมือทั้งสี่

-          1 ฝ่าเท้า ยาวเท่ากับความกว้างของ 4 ฝ่ามือ

-          1 คิวบิต (ความยาวของช่วงแขนล่าง ตั้งแต่ปลายนิ้วกลางถึงข้อศอก) ยาวเท่ากับความกว้างของ 6 ฝ่ามือ

-          ระยะจากปลายคางจนถึงตีนผมที่หน้าผาก ยาวเท่ากับ 1/10 ของความสูง (ของคนๆนั้น)

-          ความยาวของใบหู เท่ากับ 1/3 ของใบหน้า

-          ความยาวของฝ่ามือ เท่ากับ 1/10 ของความสูง (ของคนๆนั้น)

-          ระยะจากปลายหัวไหล่ทั้ง 2 ด้าน ยาวเท่ากับ 1/4 ของความสูง

            นอกจากนี้แล้วอวัยวะส่วนอื่นก็มีสัดส่วนที่เฉพาะเจาะจงด้วยเช่นกัน และเมื่อวาดตามขนาดสัดส่วนต่างๆประกอบกันแล้ว จะได้ภาพมนุษย์เพศชายที่มีรูปร่างสมบูรณ์แบบตามความคิดของวิทรูเวียส (บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์, 10 สุดยอดผลงานของ เลโอนาร์โด ดา วินชี, หน้า 43-44)

            ความสืบเนื่องเรื่องความงามของเรือนร่างมนุษย์ไม่เพียงแต่มีในทัศนคติและศิลปะของทางตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นคติของทางโลกตะวันออกด้วยอย่างในประเทศจีนที่มีมานานแล้ว ‘ผู้ชายเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในสรรพสิ่งนับหมื่นที่สวรรค์สรรค์สร้าง...ผู้ชายทุกคนมีอิสระที่จะมีเมียน้อยได้หลายคนและฐานะและความมั่งคั่งไม่มีความหมายต่อการคัดเลือก เพราะบรรทัดฐานของความชอบอยู่ที่ความงามทางกายเท่านั้น’ (กาวิน เมนซีส์, 2550,หน้า 82) ทั้งนี้ให้สังเกตว่าในภาพวาดทิวทัศน์แบบพู่กันจีนมักจะมีภาพคนเป็นส่วนประกอบของเรื่องราวในงานด้วยเสมอ และรวมถึงมีภาพวาดที่แสดงความ สำคัญของคนล้วนๆด้วย

           


                                 ภาพชื่อ Seated Bather วาดในปี 1914 ของเรอนัวร์

           

            หากจะพูดถึงความงามทางร่างกายของคนที่มองเห็นเป็นรูปธรรมในงานจิตรกรรมอันเป็นที่รู้จักอย่างของศิลปินอิมเพรสชันนิสต์ เช่นเรอนัวร์ ศิลปินชาวฝรั่งเศส (Pierre Auguste Renoir 1841-1919) ที่ชอบวาดภาพคน และจากการค้นพบเอกภาพของสี เส้นสายปริมาตรและแสงสว่างครั้งใหม่

ของเขาทำให้ผลงานในช่วงท้ายของชีวิตจะเป็นภาพหญิงเปลือยในทิวทัศน์และกลายเป็นส่วนที่สำคัญกว่าทิวทัศน์  หญิงงามในอุดมคติของเขาคือ หญิงที่มีร่างอวบอัด สะโพกผาย เขาวาดภาพร่างกายเป็น

สำคัญ ผู้หญิงในภาพวาดของเขาไม่มีดวงวิญญาณ ไม่มีจิตใจ หรือสติปัญญา หรือความสำนึกว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของสังคมส่วนรวม ในความอวบอัดเต่งตึงของพวกเธอนั้น พวกเธอเป็นเหมือนกับสัตว์ที่สวยงามสำหรับเขา หรือเหมือนกับดอกไม้หรือผลไม้ จุดมุ่งหมายด้านศิลปะที่สำคัญในงานระยะหลังๆของเรอนัวร์คือ เพื่อสรรเสริญความน่าหลงใหลแห่งร่างกายของสตรี เขาทำโดยไม่มีตัณหา แต่ด้วยความหลงใหลที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างซื่อและบริสุทธิ์ต่อภาพของเขา เป็นการแสดงความคิดด้าน

สุนทรียภาพที่มีต่อร่างกายของสตรี  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแบบคลาสสิก เพราะว่าที่จริงแล้วมันใกล้เคียงกับงานของจิตรกรกรีกสมัยก่อนมาก...และในตอนปลายชีวิตภาพสาวเปลือยของเขามีความงามสง่าและดูยิ่งใหญ่ในแบบคลาสสิกจริงๆ (กิติมา อมรทัต, 2544,หน้า128 -130)

            จากคูร์เบต์ (Gustave Courbet,1819 – 1877) ผู้เป็นจิตรกรในสำนักสัจนิยมที่เขียนภาพเกี่ยวกับสังคมและชีวิตของมนุษย์ที่มีอิทธิพลต่อเรอนัวร์ในระยะแรก และมีเดอลาครัวซ์ จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งสำนักจิตนิยมที่ประกาศตัวว่ามีความจงรักภักดีต่อแบบอย่างคลาสสิกเสมอ ซึ่งเรอนัวร์ชอบสีสันอันสดใสของเขามาก  นอกจากนี้เขายังมีความสนใจเป็นพิเศษต่อภาพเขียนของวัตโต (Watteau), ฟรองชัว บูเช (Boucher) และฟราโกนาร์ (Fragonard) ด้วย ทั้งนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่าลักษณะการเขียนและลงสีของเรอนัวร์แสดงว่าเขาได้ศึกษางานของแองเกรอส์ (Ingres) จิตรกรสำนักนีโอคลาสสิกมาเป็นอย่างดี (เรื่องเดียวกัน, หน้า 67,70 และ119)

            จะเห็นได้ว่าการศึกษาเรื่องสัดส่วนความงามของมนุษย์ได้มีมานับแต่อดีตจนถึงแนวงานศิลปะอันเป็นที่นิยมและรู้จักกันของผู้คนทั่งโลกอย่างเช่นภาพวาดของเรอนัวร์ที่นำมาเป็นตัวอย่างในที่นี้ เพราะว่าเรอนัวร์ก็เป็นศิลปินอีกผู้หนึ่งที่สนใจการเรียนรู้เสมอ ตลอดชีวิตของเขาๆตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษาศิลปะในพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่างๆเพราะเรียนได้โดยไม่เสียเงิน จนแม้เมื่อช่วงท้ายของชีวิตเขาก็ไปชมภาพของรูเบนส์ (Paul Rubens1577–1640) ที่พิพิธภัณฑ์ในเยอรมัน และในปารีสครั้งสุดท้ายเขานั่งรถเข็นไปดูภาพที่เขานิยมและกลับมาทำงานโดยพูดว่า”ฉันยังก้าวหน้าไปอีก” (เรื่องเดียวกัน,หน้า132 และ134) เราจึงได้เห็นความงามของคนในงานศิลปะที่มีการสืบต่อทางคติและสัดส่วนมาจนถึงปัจจุบัน.

                                                                                    เสวก จิรสุทธิสาร

                                                                                     สิงหาคม 2551

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

 

กฤษณา หงส์อุเทน, รศ. ดร. (2549). กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์. ฉบับที่ 514 วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2549.

---------. (2549). ศิลปะคลาสสิก. กรุงเทพฯ  อมรินทร์พริ้นติ้ง.

กิติมา อมรทัต. (2544). เรอนัวร์ ลีลาชีวิตอันรื่นรมย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คุณพ่อ.

กาวิน เมนซีส์. (2550).1421 ปีที่จีนค้นพบโลก. (แปลจาก 1421 The Year China Discovered The           World โดย เรืองชัย รักศรีอักษร). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์ และ บัญชา ธนบุญสมบัติ. ดร. (2549). เทคโนโลยีวัสดุ. 2549 เมษายน-    มิถุนายน ฉบับที่ 43. กรุงเทพฯ : แนวทางเศรษฐกิจ.

บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์. (2549). เทคโนโลยีวัสดุ. 2549 เมษายน-มิถุนายน ฉบับที่ 43.

            กรุงเทพฯ : แนวทางเศรษฐกิจ.

เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย. (2550). เที่ยวพิพิธภัณฑ์ต่างแดน. กรุงเทพฯ : วงกลม.

อัศนีย์ ชูอรุณ. รศ. (2535). ภาพวาดรูปเปลือย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

Gromling Alexandra. (1999). Michelanglo Buonarroti. Cologne : Konemann.

 

----------------------------------------------

 

 

 

 


บทความศิลปะ โดย เสวก จิรสุทธิสาร
  1. บุญชัย เรียนศิลปะ
  2. วินสตัน เชอร์ชิล:ชีวิตในฐานะจิตรกร
  3. พระอัจฉริยภาพทางศิลปะของมกุฎราชกุมารอังกฤษ
  4. อาจารย์เฟื้อเรียนศิลปะ
  5. เฟื้อ หริพิทักษ์ จิตรกรอิมเพรสชั่นนิสม์คนแรกของเมืองไทย ?
  6. ไม่มี“สีดำ”ในงานอิมเพรสชั่นนิสม์ไทย ?
  7. วาดอะไรก็ได้ ใครๆ ก็ชอบ
  8. เทคนิคจิตรกรรม
  9. ก่อนคุณจะเริ่มต้นวาดรูปสีน้ำ
  10. มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549  เชียงใหม่ สวนสเปน
  11. อคาเดมิก อาร์ต และปิกาสโซ
  12. สีน้ำสำหรับการวาดภาพ
  13. มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549  เชียงใหม่ สวนเบลเยี่ยม
  14. สัดส่วนความงามของคนในงานศิลปะ

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :