ติดต่อ....วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง โทร 074-840449 E-Mail cdapt@bpi.ac.th

ระบำบุหรงซีงอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชุด ระบำบุหรงซีงอ

โดยวิทยาลัยนาฎศิลปพัทลุง

ระบำบุหรงซีงอเป็นระบำพื้นบ้านภาคใต้แนวสร้างสรรค์ชุดใหม่ที่วิทยาลัยนาฎศิลปพัทลุงได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยไดแนวคิดและแรงบันดาลใจ จากพญานกในเทพนิยายของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นกบุหรงซีงอซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนนกสี่ตัวที่ชาวบ้านจัดสร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อเข้าร่วมประเพณีแห่นก ประกอบด้วย นกกาเฆาะซูรอ(นกการะเวก) นกการุดา (ครุฑ) นกบือเฆาะมัส (นกยูงทอง) และนกซีงอ (นกสิงห์) คำว่า" บุหรงซีงอ " เป็นภาษามาลายูท้องถิ่นปัตตานี หมายถึงนกสิงห์ มีลักษณะตัวเป็นนก เท้า หงอน และเขี้ยว เป็นสิงห์ หัว งวง งา เป็นช้าง หูแบบวัว และเขาเหมือนแกะ ส่วนดวงตาสีแดงก่ำ

ดนตรีและเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง

ใช้วงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ตอนล่างที่ผสมวงขึ้นมาใหม่เป็นวงเฉพาะเรียก " วงซีละรองเง็ง " เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่ซูนา กลองมลายู รำมะนา ฆ้อง ไวโอลีน แมนโดลิน ฟลุทแอ็คคอร์เดี้ยน ทัมเบอริน และมาลากัส บรรเลงประกอบท่วงทำนองเพลงกุดา-เกปัง

การแต่งกาย

ผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบนกบุหรงซีงอทรงเครื่อง ติดปีก ติดหาง สวมศรีษะนกครอบหน้าตามแบบมะโย่งซึ่งเป็นละครพื้นบ้านมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใ้ต้

รูปแบบและลักษณะการแสดง

ระบำบุหรงซีงอ เป็นการรำหมู่ ใช้ผู้แสดงชายล้วน ท่ารำเลียนอริยาบถของสัตว์ปีก ช้าง และสิงห์ ในท่วงท่านาฎศิลป์พื้นบ้าน สื่อความหมายถึงการโบยบินของนกบุหรงซีงอ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหาะเหินเดินอากาศ ตลอดจนดำน้ำในมหาสมุทรอย่างสง่างาม บางทีดูนิ่มนวลพลิ้วไหว สลับท่าดุดันแข็งแรงบึกบึน การใช้ตัวแสดงหลายตัวต้องการแสดงถึงความงามในการรำหมู่ และแสดงถึงพลังแห่งความยิ่งใหญ่ของพญานกผู้ซึ่งเป็นเจ้าแห่งนกหิมพานต์ตามความคติความเชื่อของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แบ่งเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ ๑ ผู้แสดงเป็นพญานกบินออกตามท่วงทำนองเพลง

ขั้นที่ ๒ ผู้แสดง แสดงพลัง อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ โชว์หัว ปีกและหางแสดงถึงความสง่างามอันวิจิตร

ขั้นที่ ๓ ผู้แสดงตั้งซุ้ม

ขั้นที่ ๔ ผู้แสดงเป็นพญานกร่อนเข้าเวทีตามทำนองเพลง

 

 

ระบำตาเลาะเซมัง

ระบำตะเลาะเซมัง

เป็นการแสดงแนวสร้างสรรค์ชุดหนึ่งที่วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุงได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นโดยได้รับทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและงานสร้างสรรค์ประจำปี 2554 จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
                คำว่า “ตะเลาะ” เป็นผลไม้ป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ออกผลเป็นพวง เปลือกแข็ง เวลาสุกจะมีสีน้ำตาลแดงด้านนอก มีเส้นสีแดงแซมเป็นลวดลายคล้ายรากไม้ เมื่อผลสุกแห้งสนิทข้างในจะกลวง นำมาเขย่ากระทบกันทำให้เกิดเสียงดัง หญิงสาวชาวเซมังนิยมเอามาเขย่าเพื่อเรียกร้องความสนใจจากชายหนุ่มชาวเซมัง และคำว่า “เซมัง”  หรือ “ซาไก” เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้บริเวณเทือกเขาบรรทัดแถบจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา ตลอดไปจนถึงรัฐเประและรัฐปาหัง ของประเทศมาเลเซีย เซมังมีชื่อเรียกขานกันต่าง ๆ เช่น ซาแก ซาไก ซึ่งแปลว่า ป่าเถื่อนหรือแข็งแรง บางกลุ่มก็เรียกซินอย เชมัง   ส่วนชาวเซมังเองจะเรียกตัวเองว่า “มันนิ”  และจะภูมิใจให้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองเป็นภาษามลายูว่า “โอรัง อัสลี” แปลว่า คนดั้งเดิม
               การแสดงชุดนี้นำเอาวิถีชีวิตของชาวเซมังมาประดิษฐ์ท่ารำโดยสอดแทรกท่าทางอันเป็นธรรมชาติทำให้กระบวนท่ารำมีความกลมกลืนสวยงาม ประกอบเข้ากับท่วงทำนองดนตรีที่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ตามแบบของชาติพันธุ์เซมังดั้งเดิม  การแต่งกายจะแต่งตามกลุ่มชาติพันธุ์เซมัง

เครื่องดนตรีประกอบการแสดง

 

 

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงชุดนี้ได้เอาแนวความคิดมาจากดนตรีพื้นฐานที่มีการละเล่นอยู่ในกลุ่มของเงาะป่าซาไก  แถบเทือกเขาบรรทัดในท้องที่จังหวัดพัทลุง  ซึ่งยังคงเป็นลักษณะของดนตรีระดับพื้นฐานอย่างง่ายๆ  ประดิษฐ์ขึ้นมาจากวัสดุจากธรรมชาติตามแบบที่ได้รับการสืบทอดกันมาแต่โบราณกาล  ในการประดิษฐ์เครื่องดนตรีของซาไก  ไม่มีความเชื่อใดๆ  เข้ามาเกี่ยวข้อง  วัสดุที่นำมาใช้ในการทำเครื่องดนตรีได้แก่  ไม้ไผ่  ซึ่งเรียกว่า  “บาแตซ”  ลูกสะบ้า   ใบไม้     เป็นต้น     ลักษณะการจัดรูปแบบการบรรเลง  หรือการจัดวงดนตรี  นักดนตรีจะนั่งล้อมกันเป็นวงเพื่อบรรเลงเครื่องดนตรีของแต่ละคน
                ในส่วนของดนตรีที่บรรเลงประกอบการแสดงนี้  อาจารย์กิตติชัย  รัตนพันธ์  พร้อมด้วยคณะอาจารย์ภาควิชาดุริยางคศิลป์  ได้คิดประดิษฐ์ทำนองเพลงและจังหวะ  ซึ่งใช้เครื่องดนตรีที่มีความหลากหลายสามารถแยกออกได้เป็น 3 กลุ่ม  กล่าวคือกลุ่มแรก  เป็นกลุ่มเครื่องทำจังหวะจะนำเอาเครื่องดนตรีพื้นฐานที่มีเล่นในกลุ่มเงาะซาไก  ที่อาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาบรรทัด   มาเป็นแนวทางและเพิ่มเครื่องเกราะเคาะไม้และเครื่องประกอบจังหวะเพื่อความสมบูรณ์และหนักแน่นของจังหวะ    ส่วนในกลุ่มที่สอง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดำเนินทำนอง  ซึ่งได้นำเอาเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าในวงดนตรีไทยคือ ขลุ่ยหลิบและขลุ่ยเพียงออ  เข้าทำหน้าที่ในการดำเนินทำนองเพลง ส่วนกลุ่มที่สามเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเป็นซาวด์เสียงธรรมชาติ (เสียงนก  เสียงไก่ป่า)    ได้แก่ ขลุ่ยที่ใช้ในชุดขลุ่ยตับนก  จุดเด่นของเพลงประกอบการแสดงอยู่ที่จังหวะเคาะไม้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีซาไก

 

 

ระบำดาหลาลาวัลย์

ระบำดาหลาลาวัลย์ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง  โดยได้แนวคิดมาจากตำนานดอกดาหลา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะแถบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ตามตำนานได้บอกเล่าถึงเรื่องราวความรักต่างศาสนาระหว่างชายไทยและสาวงามมาเลเซียที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งสองรักกันแต่ความแตกต่างทางด้านศาสนาจึงทำให้ถูกกีดกันจากพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายหญิงก็มั่นคงในความรักที่มีต่อชายไทย จนกระทั่งมีเหตุให้ผลัดพรากจากกันทั้งคู่สัญญากันว่าจะกลับมาหากันที่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียนางคอยหนุ่มคนรักจนกระทั่งตรอมใจตาย ก่อนตายนางจึงอธิษฐานว่าขอให้เกิดเป็นดอกดาหลาขึ้นอยู่ตามเทือกเขาชายแดนไทย-มาเลย์ เพื่อรอคอยการกลับมาของชายหนุ่ม

รูปแบบการแสดง

จะแสดงให้เห็นกระบวนท่าการเคลื่อนไหวชูช่อของดอกดาหลาโดยผู้แสดงจะถืออุปกรณ์เป็นดอกดาหลา ร่ายรำประกอบดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ตอนล่าง

การแต่งกาย
ผู้แสดงจะแต่งกายเลียนแบบสีของดอกดาหลาตัดเย็บด้วยผ้าไหมฟูยีเขียนลายบาติกเป็นดอกดาหลา๔สายพันธุ์ได้แก่สีขาว สีแดงสีชมพูและสีบานเย็น

เครื่องดนตรี
ใช้วงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ตอนล่างประกอบด้วย ไวโอลิน  แมนโดลิน ฟลุ๊ต แอคคอเดี้ยน เบสมุสลิม รำมะนาใหญ่ รำมะนาเล็ก ฆ้องหรือโหม่งมุสลิม มาลากัส  และแทมเบอริน

 

กลับหน้าหลัก