Identity

นาม “บัณฑิตพัฒนศิลป์” เป็นนามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์มรดกศิลปวัฒนธรรมไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทาน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งหมายถึงสถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ เป็นการยกระดับการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์และช่างศิลป์ เพื่อนำศิลปะมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
เดิมเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการสถาปนาขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ.2541 โดยมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ระดับปริญญาตรีด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ทั้งไทย และสากล ในการดำเนินการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์นั้น ได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2541 โดยกรมศิลปากร ได้พยายามผลักดันเรื่องการยกระดับ การศึกษาวิชาชีพพิเศษด้านนี้ขึ้น

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2พฤศจิกายน พ.ศ.2541 มีการประกาศจัดตั้ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2541 เป็นต้นมา

โดยให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ.2541 อันเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมให้สูงขึ้น ถึงระดับปริญญา โดยเปิดดำเนินการสอนครั้งแรกใน 3 คณะวิชา คือ คณะศิลปวิจิตร คณะศิลปนาฏดุริยางค์ และคณะศิลปศึกษา ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เป็นหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง 2 ปี) สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง (ปนส.) จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ทุกแห่ง และผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตร ศิลปกรรมวิชาชีพชั้นสูง (ศ.ปวส.)จากวิทยาลัยช่างศิลป์ทุกแห่งในปีการศึกษา 2547 ได้ขยายการผลิตบัณฑิต โดยเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี(4 ปี) ในคณะศิลปวิจิตร และคณะศิลปนาฏดุริยางค์ เปิดหลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ในคณะศิลปศึกษา และเปิดห้องเรียนเครือข่ายคณะศิลปศึกษาในวิทยาลัยนาฏศิลป์ทุกแห่งในภูมิภาค ในปีการศึกษา 2548 คณะศิลปวิจิตรได้ขยายการผลิตบัณฑิต และเปิดห้องเรียนเครือข่ายในวิทยาลัยช่างศิลป์สุพรรณบุรี และปีการศึกษา 2554 เปิดห้องเรียนเครือข่ายเพิ่มขึ้นที่วิทยาลัยช่างศิลป์ และในปีการศึกษา 2550 คณะศิลปะนาฏดุริยางค์ ได้ขยายการผลิตบัณฑิตและห้องเรียนเครือข่าย ในวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ และวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด

ปัจจุบัน สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เป็นสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์พ.ศ.2550 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 124 ตอนที่ 32 วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ส่งผลให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะ ถึงระดับปริญญาเอก และมีอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุในวัตถุประสงค์ของสถาบัน
มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 ที่ว่า “การศึกษาและส่งเสริมวิชาการ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพ ถึงวิชาชีพชั้นสูง ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และทัศนศิลป์ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทำการสอนการแสดง การวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม ทำนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนในท้องถิ่น”

ดังนั้น สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงมีภารกิจสำคัญในการจัดการเรียนการสอน ทั้งในหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ปริญญาตรี (5 ปี) และปริญญาตรี (4 ปี) ในคณะวิชา ในห้องเรียนเครือข่ายภูมิภาค และการจัดการศึกษาระดับพื้นฐาน วิชาชีพเฉพาะด้านและระดับต่ำกว่าปริญญาตรีในวิทยาลัยนาฏศิลป์ และวิทยาลัยช่างศิลป์รวม 15 แห่งด้วย โดยมีส่วนราชการที่จัดการศึกษาในสังกัด
จำนวน 18 แห่ง ตามกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการใน สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2551 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551 ดังนี้

  1. คณะศิลปวิจิตร
  2. คณะศิลปะนาฏดุริยางค์
  3. คณะศิลปศึกษา
  4. วิทยาลัยช่างศิลป
  5. วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช
  6. วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรีวิทยาลัยนาฏศิลป
  7. วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์
  8. วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี
  9. วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
  10. วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา
  11. วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช
  12. วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง
  13. วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด
  14. วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี
  15. วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย
  16. วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี
  17. วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

ต่อมา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ได้มีนโยบายขยายโอกาสให้แก่บัณฑิต จากสถาบันฯ และสถาบันอื่นที่จะเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญามหาบัณฑิต เฉพาะด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ และพัฒนาบุคลากร ของสถาบันให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านศิลปะเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาต่อไปพัฒนาการจัดการศึกษาแก่หน่วยงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้ดำเนินการโครงการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยและเริ่มจัดทำ หลักสูตรระดับปริญญาโทมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 ต่อมาในปีการศึกษา 2552 การจัดหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิตสาขานาฏศิลป์ไทย และหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาดุริยางคศิลป์ไทย ได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในการประชุม ครั้งที่ 7/2552 วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้รับคำรับรองจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่าเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2548 ตามหนังสือที่ ศธ 0506(2)/2249 และในปีการศึกษา 2553 จึงได้เริ่มเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท 2สาขาวิชา คือ สาขานาฏศิลป์ไทย และสาขาดุริยางคศิลป์ไทย

อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
อัตลักษณ์สถาบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ คือ สืบสาน สร้างสรรค์งานศิลป์
อัตลักษณ์ของบัณฑิตสถาบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ คือ มืออาชีพงานศิลป์
เอกลักษณ์สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ คือ เป็นผู้นำด้านงานศิลป์

Weblink