https://essaywritingrules.net/  วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี - สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เว็บไซต์สำหรับผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย

วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี



วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรีตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๒ งาน ๕๕ ตารางวา
ณ เลขที่ ๑๖ หมู่ที่ ๔  ถนนมาลัยแมน  ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี  ๗๒๐๐๐
วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี  ได้ประกาศจัดตั้งตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ  เมื่อวันที่ ๑๑  มกราคม  ๒๕๓๖
โดยยกฐานะขึ้นจากศูนย์ฝึกอบรมช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากรให้เป็นวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี
สังกัดกองศิลปศึกษา นับเป็นสถานศึกษาช่างศิลปส่วนภูมิภาคแห่งแรกของกรมศิลปากร
จัดการศึกษาตามหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นกลาง ( ศก ) โดยในปีการศึกษา  ๒๕๓๖ นี้
ได้จัดการศึกษาขึ้นเป็นปีแรก  มี นายกมล  สุวุฒโฑ  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

ปีการศึกษา ๒๕๓๘ วิทยาลัยได้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนมาลัยแมนขึ้นมาอีกแผนกหนึ่งเพื่อตอบสนองนโยบาย
ของกระทรวงศึกษาธิการที่จัดให้สถานศึกษาเป็นแหล่งวิทยาการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปในท้องถิ่น
โดยเปิดรับบุคคลทั่วไปเข้าฝึกอบรมศิลปะหลักสูตรระยะสั้นจำนวน ๑๓๖  ชั่วโมง  ใน ๓ สาขาคือ
จิตรกรรมสีน้ำ  สาขาวิชาภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน  สาขาช่างสิบหมู่ ( ช่างรัก และช่างเขียน )
ปัจจุบันวิทยาลัยชุมชนดังกล่าวอยู่ในรูปของโครงการฝึกอบรมศิลปะสำหรับบุคคลทั่วไป
ซึ่งจัดการการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายสาขาและระยะเวลาฝึกอบรมที่แตกต่างกัน
ในปีนี้กรมศิลปากรได้ปรับปรุงส่วนราชการของกรมใหม่ 
อาทิ ได้แยกกองศิลปศึกษาออกเป็นสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์  และสถาบันศิลปกรรม
วิทยาลัยจึงได้ย้ายสังกัดจากกองศิลปศึกษามาสังกัดสถาบันศิลปกรรม
ทำให้การจัดการศึกษาด้านศิลปะของวิทยาลัยมีความคล่องตัวขึ้น

ปีการศึกษา ๒๕๓๙กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ
และประกาศนีบัตรวิชาชีพชั้นสูงและได้เริ่มจัดการศึกษาเพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
คือหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนีบัตรวิชาชีพ ชั้นสูง ( ศ.ปวส. )
เพื่อเป็นการรองรับนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับศิลปศึกษาชั้นกลาง ( ศก. )
และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ศ.ปวช.)  หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.๖) หรือเทียบเท่า
เข้าศึกษาต่อใน ๓ สาขาวิชาเอก  คือ วิชาเอกจิตรกรรม  วิชาเอกออกแบบตกแต่ง และวิชาเอกภาพพิมพ์

ปีการศึกษา ๒๕๔๐  วิทยาลัยได้เปิดการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ศ.ปวส.)
ในวิชาเอกศิลปะไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาขา

ปีการศึกษา ๒๕๔๑  วิทยาลัยมีนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ( ศ.ปวส.)  สำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นแรก
จำนวน ๔๕ คน นอกจากนี้วิทยาลัยยังเปิดสอนสาขาวิชาเอกประติมากรรมเพิ่มขึ้นอีก ๑ สาขาด้วย

ปีการศึกษา ๒๕๔๒  นักเรียนหลักสูตรใหม่ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ศ.ปวช.) จบการศึกษาเป็นรุ่นแรก 
ทำให้จำนวนนักเรียนที่จบมีเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนของนักเรียน 
วิทยาลัยจึงได้เปิดสอนวิชาเอกเครื่องเคลือบดินเผาเพิ่มอีก ๑ สาขาในระดับ ศ.ปวส.
รวมเป็น ๖ สาขาวิชาและเปิดสอนมาจนถึงปัจจุบัน

ในปีนี้ผู้อำนวยการกมล  สุวุฒโฑ ได้รับคำสั่งกรมศิลปากรแต่งตั้งให้โยกย้าย
ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปและแต่งตั้งนายธงชัย รักปทุมผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป
มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี

ปีการศึกษา ๒๕๔๓  กรมศิลปากรมีคำสั่งแต่งตั้ง นายธงชัย รักปทุมผู้อำนวยการฯ
ไปดำรงตำแหน่งอธิการสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และแต่งตั้งนายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์
ผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี

ปีการศึกษา ๒๕๔๕  เป็นยุคปฏิรูประบบราชการตามนโยบายของรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร
เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ประสงค์จะให้มีกระทรวงเพิ่มขึ้นอีกหลายกระทรวง  มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นอาทิ 
กรมศิลปากรจึงย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกระทรวงตั้งใหม่ 
ให้มีบทบาทตามภาระหน้าที่การจัดการด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เป็นเอกภาพต่อไป
และวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรีจึงได้ย้ายสังกัดจากสถาบันศิลปกรรม  ไปสังกัดอยู่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
กรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม ในปีนี้วิทยาลัยได้ระดมสรรพกำลังความคิดจากบุคลากรทุกฝ่ายช่วยกัน 
จัดทำธรรมนูญการศึกษาของวิทยาลัยขึ้น  เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาวิทยาลัย
ให้สมกับยุคปฏิรูปการศึกษาและระบบราชการ

ปีการศึกษา ๒๕๔๖  วิทยาลัยได้ปรับปรุงหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
ด้วยการร่างหลักสูตรสถานศึกษา  หรือหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อนำมาจัดการเรียนในวิทยาลัย
ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของพรบ. การศึกษาแห่งชาติโดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษานี้เป็นต้นไป

ปีการศึกษา ๒๕๔๗  วิทยาลัยมีผู้อำนวยการคนใหม่ซึ่งย้ายมาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง
คือนายสุขุม บัวมาศ ผู้อำนวยการคนใหม่นี้ได้พัฒนาวิทยาลัยให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
คือได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาลัย แผนกลยุทธ์โดยเริ่มต้นจากการทำสวอท
กำหนดวิสัยทัศน์ ปรัชญา  พันธกิจ  กำหนดโครงการการบริหารภายในเพิ่มขึ้นจากเดิม
คือให้มีหัวหน้าภาควิชา  ๓ ภาควิชาคือ  ภาควิชาสามัญ ภาควิชาวิจิตรศิลป์  ภาควิชาศิลปะประยุกต์ 
ให้หัวหน้าภาควิชามาจากการเลือกตั้งอยู่ในวาระคราวละ ๒ ปีและไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน
ให้หัวหน้าภาควิชาเป็นคณะกรรมการบอรืดยริหารวิทยาลัยโดยตำแหน่ง  มีหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการมอบหมาย

ในปีการศึกษานี้วิทยาลัยได้ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก
จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)

ปีการศึกษา ๒๕๔๘  วิทยาลัยได้รับอนุมัติจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  ให้เปิดห้องเรียนเครือข่ายหลักสูตรศิลปะบัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตรกรรม  มีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน ๔ คน

ปีการศึกษา ๒๕๔๙  วิทยาลัยได้งดการเปิดสอนสาขาวิชาจิตรกรรมในระดับ ศ.ปวส.
เนื่องจากมีการเปิดสอนในระดับปริญญาตรีแล้ว

ปีการศึกษา ๒๕๕๐  วิทยาลัยได้รับอนุมัติจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ให้เปิดห้องเรียนสาขา
หลักสูตรศิลปบัณฑิตต่อเนื่อง ๒ ปี  ใน ๓ สาขาวิชาเอก คือสาขาจิตรกรรม  สาขาศิลปะไทย
และสาขาประติมากรรม

ในปีนี้วิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงต้นสังกัดครั้งสำคัญ
คือสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ได้มีพระราชบัญญัติยกฐานะขึ้นเป็นส่วนราชการมีฐานะขึ้นเป็นส่วนราชการ
มีฐานะเป็นนิติบุคคลเทียบเท่ากรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม  จัดการศึกษาได้สูงสุดถึงระดับปริญญาเอก
ทำให้วิทยาลัยมีฐานะเป็นส่วนราชการหนึ่งในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
และในปลายปีนี้วิทยาลัยมีผู้อำนวยการคนใหม่ คือ นางสาวพัชรี ผลานุรักษา
ซึ่งย้ายมาจากวิทยาลัยช่างศิลป และผู้อำนวยการฯ นายสุขุม บัวมาศ
ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป เป็นการย้ายสลับกัน

ต่อมาเมื่อปี.........ระบบการสรรหาผู้อำนวยการวิทยาลัย อยู่ในรูปของการเลือกตั้ง 
นายวิฑูรย์  พูนสวัสดิ์ จึงได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปะสุพรรณบุรี
และเป็นผู้อำนวยการคนปัจจุบันของวิทยาลัย

วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรีนับว่ามีความพร้อมทุกด้าน 
ที่จะพัฒนาสร้างสรรค์บุคลากรทางด้านศิลปะให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ 
มีคุณภาพที่จะออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติได้อย่างดียิ่ง 
ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยได้เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียง 
และบางส่วนได้จบออกไปประกอบอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนตามองค์กรต่างๆ
ได้อย่างสมคุณค่าและน่าภาคภูมิใจ ทั้งนี้เพราะคณาจารย์และบุคคลากรวิทยาลัยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ
มากด้วยประสบการณ์อาคารสถานที่ครบครัน  วัสดุอุปกรณ์ทันสมัย และที่สำคัญคือ วิทยาลัยมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนศิลปะอย่างสร้างสรรค์
นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวช่างศิลปสุพรรณบุรี

http://cfasp.bpi.ac.th/home.html

 

Weblink