bannerinside_cfa

ประวัติและความเป็นมา

วิทยาลัยช่างศิลปมีชื่อเดิมว่า โรงเรียนศิลปศึกษา ตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมาย เพื่อให้มีฐานะเป็นโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินงานโดยอาศัยเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัย และได้ครู อาจารย์ในมหาวิทยาลัยช่วยทำ การสอน นอกจากครูสอนวิชาสามัญมีทั้งครูประจำ และเชิญบุคคลภายนอกมาสอนพิเศษเป็นรายชั่วโมง

หลักสูตรศิลปะก็จัดวิชาและรายการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร เว้นแต่วิชาสามัญคงดำเนินการสอนตามหลักสูตรชั้นเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์

โรงเรียนศิลปศึกษานี้ ได้มีประกาศให้ตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2495 โดยนายกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยศิลปากรและประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาของโรงเรียนศิลปศึกษา พุทธศักราช 2495 กำหนดคุณสมบัติ และพื้นความรู้ของผู้สมัครเข้าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียน

หลักสูตรในระยะแรกเริ่มนี้คงเปิดสอนเพียงแผนกเดียว คือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เป็นหลักสูตร 3 ปี และให้สิทธิ์ผู้สอบได้ชั้นปีที่ 2 ซึ่งได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศิลปากรโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก ส่วนผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี จะได้ประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางของกรมศิลปากร


อาคารเรียน โรงเรียนศิลปศึกษา

โรงเรียนศิลปศึกษาเปิดทำการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 มีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 36 คน โดยใช้สถานที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว

พ.ศ. 2496 ได้ขยายการสอนเป็น 3 แผนก คือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม แผนกช่างสิบหมู่ และแผนกโบราณคดี แต่ละแผนกมีกำหนดเวลาเรียน 3 ปี

พ.ศ. 2497 กรมศิลปากรได้รับมอบตึกที่ทำการกระทรวงคมนาคมเดิม 3 หลัง จึงได้ยกตึก 2 หลังด้านใน ให้เป็นอาคารเรียนของ โรงเรียนศิลปศึกษา นับแต่นั้นเป็นต้นมา โรงเรียนศิลปศึกษาจึงมีสถานที่เรียนเป็นการถาวร จน พ.ศ. 2503 อาคารเรียนจึงถูกรื้อ ไปเสียหลังหนึ่งเพื่อสร้างโรงละครแห่งชาติ

พ.ศ. 2498 โรงเรียนศิลปศึกษายังคงดำเนินการสอนใน 3 แผนก พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาใหม่คือรับนักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้น ปีที่ 2 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แต่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเสียก่อน

พ.ศ. 2500 มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียนหลายประการคือ

ก. ได้มีการกำหนดฐานะของโรงเรียน ประเภทเตรียมอุดมศึกษา เรียกชื่อว่า โรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร 
ข. ได้ยุบเลิกแผนกช่างสิบหมู่ คงเหลือไว้เพียง 2 แผนก และเรียกชื่อใหม่ว่า แผนกเตรียมศิลป แผนกเตรียมโบราณคดี สำหรับ การศึกษาใน 2 ปีแรก 
ค. เปลี่ยนมาสังกัดอยู่ในกองหัตถศิลป กรมศิลปากร

พ.ศ. 2501 โรงเรียนศิลปศึกษาได้กลับไปสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้ง จนถึงเดือน มกราคม พ.ศ. 2503 เมื่อ มหาวิทยาลัยศิลปากรแยกไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ โรงเรียนศิลปศึกษาจึงกลับมาสังกัดกองหัตถศิลป กรมศิลปากรดังเดิม และพ้นฐานะจากการเป็นโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ยุบเลิกแผนกโบราณคดี คงเหลือแต่แผนกจิตรกรรมและประติมากรรมแผนกเดียว ส่วนกำหนดเวลาเรียนยังคงเป็น 3 ปี จึงจบหลักสูตร

จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่ มีการตั้งกองศิลปศึกษาขึ้น โรงเรียนศิลปศึกษาจึงมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งในกองศิลปศึกษา มีงบประมาณตำแหน่งครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนช่างศิลป ในโอกาสนี้ด้วย


ช่างศิลป วังหน้า

พ.ศ. 2505 ทางการได้รื้ออาคารเรียนเดิม ซึ่งเหลืออยู่เพียงหลังเดียว เพื่อสร้างโรงละครแห่งชาติ จึงได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นอาคารเรียนถาวรให้แก่โรงเรียนช่างศิลปขึ้นภายในบริเวณเดียวกันกับโรงเรียนนาฏศิลป
นับแต่นั้นมา โรงเรียนช่างศิลปได้ให้การศึกษาแก่นักเรียนใน หลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง (เทียบเท่าหลักสูตรครูประถมการช่าง หรือ ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหลักสูตร 3 ปี จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง โรงเรียนช่างศิลป กรมศิลปากร พุทธศักราช 2517 ซึ่งใช้เวลาต่อจากหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางอีก 2 ปี และเทียบการศึกษานี้เท่ากับหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.) โรงเรียนช่างศิลปจึงได้เปิดให้การศึกษาตามหลักสูตรนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2517

ในปีการศึกษา 2518 โรงเรียนช่างศิลปก็ได้ให้การศึกษาแก่นักเรียน ทั้งในระดับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง และระดับ ประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง และผลิตผู้สำเร็จการศึกษาการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงเป็นรุ่นแรก ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนช่างศิลป เป็น วิทยาลัยช่างศิลป เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 และเริ่มขยายกิจการการเรียนการสอนไปที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยได้เริ่มพัฒนา ก่อสร้างอาคารเรียนในที่ดินวิทยาลัยเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เนื้อที่ประมาณ 63 ไร่ ในปีพ.ศ. 2519 และเริ่มใช้เป็นสถานศึกษาของวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา 

พ.ศ. 2524 วิทยาลัยช่างศิลปได้ปรับปรุงหลักสูตร ประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง ซึ่งเทียบเท่าประโยคครูประถมการช่าง โดยยกเลิกการเรียนวิชาการศึกษาในหลักสูตรนี้ โครงสร้างของหลักสูตรประกอบด้วย หมวดวิชาสามัญ หมวดวิชาสัมพันธ์ หมวดวิชาชีพภาคทฤษฎี และวิชาชีพภาคปฏิบัติทั้งศิลปะ-ไทยแบบประเพณี และศิลปะร่วมสมัย มีกำหนดเวลาเรียน 3 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาก็คงได้รับ วุฒิประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง (ระดับ ปวช.) 

พ.ศ. 2527 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงซึ่งเทียบเท่าหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.) อีกครั้งหนึ่ง โดยยกเลิกการเรียนวิชาการศึกษาเช่นเดียวกับหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง โครงสร้างของหลักสูตรจึงประกอบด้วย หมวดวิชาพื้นฐานทั่วไป หมวดวิชาศิลปะ (วิชาพื้นฐานวิชาศิลปะ วิชาศิลปะเฉพาะสาขา วิชาศิลปะเลือก) และหมวดวิชาเลือก โดยให้ นักศึกษาเลือกเรียนวิชาศิลปะสาขาต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจในศิลปะเฉพาะสาขา (วิชาเอก) และวิชาศิลปะเลือก (วิชาโท) เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง (ระดับ ปวส.)

พ.ศ. 2539 วิทยาลัยได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นกลาง และหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นสูง อีกครั้งหนึ่งเรียกชื่อว่า หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพพุทธศักราช 2539 (ศ.ปวช.) และหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2539 (ศ.ปวส.) ตามลำดับ ซึ่งมีสาขาวิชาให้นักศึกษาเลือกเรียนอย่างหลากหลาย สอดคล้องกับแนวนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม

พ.ศ. 2545 วิทยาลัยช่างศิลปเปลี่ยนหน่วยงานต้นสังกัดจากสถาบันศิลปกรรมมาเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตามประกาศกรมศิลปากร เรื่องการแบ่งส่วนราชการ หน่วยงาน และสถานศึกษาของกรมศิลปากร ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2545

พ.ศ. 2546 ปรับหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2539 มาเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2544 วิทยาลัยช่างศิลป ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542

พ.ศ. 2550 วิทยาลัยช่างศิลปและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์แยกตัวจากกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 32 ก วันที่ 9 กรกฏาคม พ.ศ. 2550

พ.ศ. 2552 วิทยาลัยช่างศิลปปรับโครงสร้างการบริหารให้เป็นไปตามประกาศของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยให้มีการสรรหาผู้อำนวยการวิทยาลัย และผู้อำนวยการคนแรกที่มาจากระบบการสรรหา คือ อาจารย์สมบัติ กุลางกูร

Weblink