รำทอซิ่นตีนจก

     รำทอซิ่นตีนจก เป็นชุดการแสดงที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวไทยพวน ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย “ไทยพวน” เป็นคนไทยกลุ่มน้อยที่อพยพมาจากแขวงเมืองพวน ประเทศลาว เมื่อประมาณกว่า 200 ปีที่ผ่านมา เมื่อมาตั้งถิ่นฐานในไทยชาวพวนกลุ่มนี้ยังไม่ลืมวัฒนธรรมของตนเองโดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งมีชื่อเสียงว่ามีฝีมือประณีต ลวดลายงดงาม และมีคุณภาพสูง การแสดงชุดนี้เน้นให้เห็นว่ากว่าจะกลายเป็น ผ้าซิ่นตีนจกแต่ละผืนนั้น จะต้องผ่านกรรมวิธีที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลามากมายเพียงไรท่วงทำนองดนตรี แต่งโดย อาจารย์บัณฑิต ศรีบัว อาจารย์ประจำหมวดวิชาเครื่องสายไทย ภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย

ฟ้อนตะคัน

     ฟ้อนตะคัน เป็นผลงานของวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๑ และนำมาพัฒนา ปรับปรุง ในปีพ.ศ.๒๕๓๓ คำว่า “ตะคัน” หมายถึง ถ้วยดินปั้นขนาดเล็ก ในถ้วยหล่อเทียนขี้ผึ้ง มีไส้เทียน โผล่ออกมาเพื่อใช้จุดให้เกิดแสงสว่าง ในถ้วยเทียน หรือตะคันนี้มีมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อ ๗๐๐ ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยในสมัยของผู้อำนวยการจตุพร รัตนวราหะ ร่วมกับคณะครูภาควิชานาฏศิลป์ไทย และดุริยางค์ไทย ประดิษฐ์ท่ารำและดนตรีประกอบเพื่อให้เกิดความสุนทรีย์ของการนำ ตะคันไปบูชาพระรัตนตรัย จึงนำตะคันมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการแสดง เพื่อเป็นสื่อชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยในสมัยนั้น

ระบำเบญจรงค์

     ระบำเบญจรงค์ เป็นระบำชุดใหม่ที่ประกอบด้วย เนื้อร้องที่กล่าวถึงคุณค่า ความสำคัญของเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ซึ่งเป็นศิลปหัตถกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย อธิบายถึงความงดงามอันแฝงด้วยความงามในทางศิลปะของสีเบญจรงค์อันได้แก่ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ สะอาด มีคุณค่า สีดำ หมายถึง ความเศร้าโศก มืดมนแต่แฝงด้วยอำนาจอันน่าเกรงขาม สง่า สีแดง หมายถึง ความสุข อบอุ่น ร้อนแรง กล้าหาญ สีเหลือง หมายถึง ความสว่างไสว สดใส ความยั่งยืน มั่นคง สีเขียว หมายถึง ความสดชื่น ความเจริญ งอกงาม ความปลอดภัย

ฟ้อนลื้อล่องน่าน

     ลื้อ หรือไตลื้อ เป็นชนกลุ่มหนึ่ง ที่มีถิ่นฐานเดิมในแดนสิบสองปันนา มณฑลยูนานทางตอนใต้ของประเทศจีน สำหรับประเทศไทยพบชาวลื้อ หรือไตลื้ออาศัยอยู่ตามหมู่บ้านบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย แถบจังหวัดพะเยา เชียงราย ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ และน่าน ด้วยความสนใจในวิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมของชาวไตลื้อเมืองน่าน วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย จึงได้เดินทางไปศึกษาชีวิต ศิลป ประเพณี วัฒนธรรม การแต่งกาย ของชนชาวไตลื้ออำเภอปัวและอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ประกอบกับศึกษาหาข้อมูลจากเอกสาร วารสาร ตำรา วีดีทัศน์แล้วนำกลับมาคิดประดิษฐ์การแสดงใช้ชื่อว่า “ฟ้อนลื้อล่องน่าน” ท่ารำของฝ่ายหญิงและชาย รับรูปแบบ และอิทธิพลมามาจากการฟ้อนเจิง ฟ้อนเล็บ ฟ้อนมองเซิง ฟ้อนล่องน่าน ของชาวไตลื้อ จังหวัดน่าน การแต่งกายของฝ่ายชาย จะแต่งแบบลื้อเมืองเงิน โดยจะสวมเสื้อแขนยาว สีดำคราม คอตั้ง ผ่าอกติดกระดุม บริเวณคอเสื้อตกแต่งด้วยแถบผ้าสีลวดลาย นุ่งกางเกงขาก๊วย ยาวถึงข้อเท้า สวมหมวกผ้า การแต่งกายของฝ่ายหญิง จะมีสองกลุ่ม กลุ่มแรก จะแต่งแบบไตลื้อเมืองเงิน ใส่เสื้อรัดรูป เอวลอย สีดำคราม มีสาบหน้าเฉียงมาผูกติดกันด้วยด้ายฝั้น ตรงมุมด้านซ้ายหรือขวาของลำตัว ประดับด้วยกระดุมเม็ดเล็กเรียงกัน โพกหัวด้วยผ้าสีดำ ส่วนกลุ่มที่สอง แต่งแบบลื้อสมัยใหม่ คือผ้าซิ่น ซึ่งจะนุ่งซิ่นตีนจกลวดลายน้ำไหล ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่านเสื้อจะมีลักษณะเดียวกับกลุ่มแรกแต่เพิ่มเครื่องเงินห้อยอยู่ข้างๆลำตัว โพกหัวด้วยผ้าสีขาว วงดนตรีประกอบจะใช้วงปู่เจ่ และวงสะล้อซอซึง

ระบำเทวีศรีสัชนาลัย

     ระบำเทวีศรีสัชนาลัย เป็นระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยนำหลักฐานทั้งทางด้านท่ารำ เครื่องแต่งกาย มาจากรูปปั้น รูปแกะสลักเทวดา นางฟ้า และลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ ขุดค้นพบ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยเครื่องแต่งกายของระบำชุดนี้ได้รับแบบอย่างจากรูปปั้นขอมผู้หญิงสมัยสุโขทัยซึ่งตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย โดยยอดชฎาทำเป็นรูปทรงเจดีย์วัดช้างล้อม อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยท่วงทำนองแต่งโดย อาจารย์บัณฑิต ศรีบัว อาจารย์ประจำหมวดวิชาเครื่องสายไทย ภาควิชาดุริยางค์ไทยวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ดนตรีที่ใช้ประกอบด้วย กระจับปี่ ซอสามสาย ปี่ใน ตะโพน ฆ้องวงใหญ่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องดนตรีสมัยสุโขทัย

ระบำลีลาลายสังคโลก

     “สังคโลก”เป็นชื่อเครื่องถ้วยของสุโขทัยซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เครื่องถ้วยสังคโลก มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 15-16 คำว่า “สังคโลก” น่าจะเลือนมาจาก “สวรรคโลก” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองศรีสัชนาลัย เมืองลูกหลวงของอาณาจักรสุโขทัย ความโดดเด่นของเครื่องถ้วยสังคโลกคือสีที่เคลือบซึ่งส่วนใหญ่นิยมสีเขียว สีน้ำตาลและสีขาว รูปทรงที่แปลกตาและการตกแต่งลวดลายต่างๆโดยเฉพาะลายพันธ์ไม้ และลายปลาหลากหลายชนิด สิ่งล้ำค่าที่ซ่อนอยู่ในรูปทรงของเครื่องถ้วยสังคโลกนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้คณาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย คิดประดิษฐ์การแสดงขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยให้ชื่อชุดว่า “ระบำลีลาลายสังคโลก” เครื่องแต่งกาย ยึดหลักเครื่องแต่งกายของหญิงสมัยสุโขทัย คือ นุ่งผ้าซิ่นสีเขียวไข่กา ซึ่งเป็นสีที่นิยมใช้ในเครื่องเคลือบสังคโลก และสวมเสื้อเข้ารูป ผ้าซิ่นเน้นการเขียนลวดลาย ซึ่งเป็นลายที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยสังคโลก โดยเลือกเฉพาะลายดอกไม้ ดนตรีประกอบ ดนตรีที่ใช้ ประกอบด้วย กระจับปี่ ซอสามสาย ปี่ใน ตะโพน ฆ้องวงใหญ่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องดนตรีสมัยสุโขทัย ส่วนท่วงทำนองแต่งขึ้นใหม่โดยอาจารย์บัณฑิต ศรีบัว อาจารย์ประจำหมวดวิชาเครื่องสายไทย ภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย

ระบำกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์

     ระบำกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ เป็นระบำที่ประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ โดยศึกษา ค้นคว้า หลักฐานจากเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี ตลอดจนโบราณสถานและโบราณวัตถุในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ทั้งนี้ยึดร่องรอยอารยธรรมที่โดดเด่นของเมืองกำแพงเพชร ที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองด้านศาสนาพุทธที่ได้รับมาจากสุโขทัยเป็นหลัก รวมไปถึงความสัมพันธ์ของเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ที่มีความเจริญควบคู่มาตลอด จากนั้นจึงได้นำมาคิดประดิษฐ์ท่ารำ และเรียบเรียงเป็นกระบวนรำให้สอดคล้องกลมกลืนกันตามท่วงทำนองเพลงที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ชื่อของระบำชุดนี้ได้ตั้งขึ้นตามชื่อเมือง “กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์” ซึ่งปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ.1940 ท่ารำและผู้แสดง ใช้ท่ารำไทยมาตรฐานที่มีอยู่ในเพลงช้า เพลงเร็ว และแม่บทเป็นส่วนใหญ่ จินตนาการให้เป็นสาวงามของเมืองกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ จำนวน 8 คน ออกมาฟ้อนร่วมกัน เครื่องแต่งกาย ได้แนวคิดจากการศึกษาเทวรูปสำริดเทวสตรี ศิลปะสุโขทัย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรูปของพระลักษมี หรือของพระอุมา ตั้งอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร และนอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปไม้แกะสลัก รูปปั้นเศียรเทวดาจากวัดช้างรอบ จังหวัดกำแพงเพชร จากหลักฐานดังกล่าว ได้สรุปแนวคิดว่าจะแต่งกายเลียนแบบเครื่องทรงของเทวรูปต่างๆที่พบ เครื่องประดับศีรษะตามรูปแบบของเศียรเทวดาในวัดช้างรอบ ประกอบด้วยเกี้ยวรัดผมทรงสูง และกระบังหน้าไม่มีจอนหู ส่วนเครื่องประดับอื่นๆ ได้แก่กรองคอ ต้นแขน กำไลมือ ข้อเท้า รัดสะเอว และห้อยหน้า ได้ประดิษฐ์ให้มีลักษณะและลวดลายตามแบบเครื่องทรงของเทวรูป เทวสตรี ส่วนของช่วงตัว ซึ่งในเทวรูปมีลักษณะเปลือย ได้กำหนดให้สวมเสื้อแนบเนื้อสีส้มอ่อน เพื่อให้ดูกลมกลืนกับสีผิวของผู้แสดง ช่วงล่างใช้ผ้ายกสีเขียว นุ่งจับจีบรอบ ช่วงสะโพกชายด้านหน้าแหวกโค้งขึ้นตามลักษณะผ้าทรงของเทวรูป ทิ้งชายผ้าทั้งสองข้างประดับอยู่ด้านข้าง ด้านหลังจับผ้าทบกัน 2 ชั้น เครื่องดนตรีและท่วงทำนองประกอบ เครื่องดนตรีบรรเลงประกอบระบำ กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ ใช้วงสุโขทัยโบราณ ประกอบด้วย ซอสามสาย กระจับปี่ ฆ้องวง ปี่ใน ตะโพน และฉิ่ง ส่วนท่วงทำนองแต่งขึ้นใหม่โดยอาจารย์บัณฑิต ศรีบัว อาจารย์ประจำหมวดวิชาเครื่องสายไทย ภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ทำนองเพลงเป็นขอมปนไทย หรือไทยปนขอม ตามความคิดว่าน่าจะประดิาฐ์ท่วงทำนองในยุคที่คิดว่ากำแพงเพชรรุ่งเรืองที่สุด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นยุคที่ขอมเสื่อมอำนาจและไทยกำลังมีอิทธิพลแทนที่ขอม

ระบำประทีปทอง

     ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ นายจตุพร รัตนวราหะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ได้มอบหมายให้ภาควิชานาฏศิลป์ไทยประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง “ประทีปทอง” ซึ่งนายบรรเลง พระยาชัย อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางค์ไทย เป็นผู้ประดิษฐ์ทำเพลงขึ้นใหม่ โดยผู้อำนวยการจตุพร รัตนวราหะ ได้ให้แนวคิดว่าระบำชุดนี้ควรจะสื่อให้เห็นถึงความหมายตามชื่อของเพลง “ประทีปทอง” ซึ่งหมายถึง แสงไฟที่สว่างสุกใส สวยงามประดุจทอง

ระบำโคมประทีปสุโขทัย

     “โคม” พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า เครื่องครอบตะเกียงเพื่อบังโคมหรือบังคับแสงไฟ ตะเกียงเครื่องตามไฟ หรือเครื่องให้แสงสว่าง ซึ่งมีเครื่องบังลมหรือเครื่องบังคับแสงไฟ เช่นนั้น ใช้ตั้ง หิ้ว หรือแขวน เช่น โคมไฟฟ้า “ประทีป” พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า ไฟที่มีเปลวสว่าง (หมายเอาตะเกียง ไฟเทียน เป็นต้น) “โคม” หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ที่ให้แสงสว่างแทนตะเกียงในงานบุญโดยใช้เทียนหรือ ตะคันวางไว้ข้างใน ครอบไม่ให้ไฟดับและใช้ผูกอยู่กับยอดเสาหรือที่สูงและสามารถ เคลื่อนไหวตามแรงลมได้ จะชักหรือดึงลงมาเพื่อเติมเชื้อเพลิง (http://thai.tourismthailand.org) ในหนังสือนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของโคม ในพระราชพิธีจองเปรียงในสมัยสุโขทัย ว่า “เป็นพิธีทางพราหมณ์โดยเป็นพิธียกโคมตามประทีปบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ ตามกำหนดยกโคมนั้นคือเดือน ๑๒ ให้ยกโคมตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นต้นไปจนถึงแรม ๒ ค่ำ จึงลดโคมลงจากเสา สำหรับบรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชัก โคมแขวน โคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรี” นายชัยวัฒน์ ทองศักดิ์ ได้กล่าวถึงหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตอนที่กล่าวถึงประเพณีการทอดกฐินเนื่องในเทศกาลออกพรรษาว่า “......เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนหนึ่งจึ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ยพนมหมากมีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอน บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้านไปสวดกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงดํกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพิน เสียงเลื่อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เทียนย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก” เมื่อหมดเทศกาลกฐินแล้วในกลางเดือนของเดือนสิบสองจะมีประเพณีลอยกระทง ในสมัยสุโขทัยเรียกว่า “พิธีจองเปรียง – ลอยประทีป” สำหรับการทำโคมชัก โคมแขวน ในปัจจุบัน ท่านอาจารย์ทองเจือ สืบชมภู ได้กล่าวไว้ว่า โคมแต่ละโคม ต้องใช้ระยะเวลาทำประมาณ ๒-๓ เดือนจึงจะสำเร็จ โดยการนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชเม็ดเล็ก ๆ ได้แก่ เม็ดมะกล่ำตาหนู, ข้าวฟ่างสีส้ม ขาว ดำ เหลือง, ข้าวเปลือกนก, งาขาว ดำ แดง เทา ถั่วเขียว, เข็มหมุด, เมล็ดผักกาด, เมล็ดข้าวเหนียว, เมล็ดผักชี, เปลือกไข่, เปลือกไหม, ใบลาน, ดอกตะแบก, ดอกบานไม่รู้โรย, ทราย, เชือกผักตบชวา, ไหมญี่ปุ่น, ดวงไฟ, กระดาษแข็ง, ไม้ไผ่, ไม้อัด, กระดาษสา, เชือก, เส้นด้าย และอื่น ๆ มาร้อยเรียง แต่งแต้มให้เป็นโคมชักโคมแขวน แต่ละเสี้ยวของโคมต้องใช้ ความประณีต ความอดทน และความพยายาม อย่างมาก เพื่อให้สมกับความวิจิตรตระการตาที่นำมาให้ได้ชมในงาน ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย เป็นสถานศึกษาที่อนุรักษ์ และสืบทอดศิลปะสาขาดนตรี นาฏศิลป์ จึงได้สร้างสรรค์ชุดการแสดงที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ได้แก่ ระบำโคมประทีปสุโขทัย ซึ่งเป็นการแสดงที่สร้างสรรค์เพลงและท่ารำมาจากความงดงามของโคมชักโคมแขวนในเทศกาลเผาเทียนเล่นไฟของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นการสืบทอดประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ในรูปของการแสดงนาฏศิลป์ดนตรี และเป็นการปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน มีส่วนในการอนุรักษ์ศิลปะให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักและร่วมกันอนุรักษ์สืบต่อไป

Weblink